เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส1
ปฐมวรรค
ว่าด้วยการประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[121] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ไม่ต้องการบุตร(แล้ว)จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (1)
คำว่า ทุกจำพวก ในคำว่า บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก อธิบายว่า ทุกสิ่ง
โดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ โดยประการทั้งปวง คำว่า
ทุกจำพวก นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในสัตว์ ได้แก่ สัตว์ที่มักสะดุ้งและสัตว์ที่มั่นคง เรียกว่าสัตว์
คำว่า ผู้สะดุ้ง อธิบายว่า เหล่าสัตว์ยังละตัณหาอันทำให้สะดุ้งไม่ได้ ยังละภัย
และความหวาดกลัวไม่ได้ เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่าผู้สะดุ้ง
สัตว์เหล่านั้นยังสะดุ้ง คือ ครั่นคร้าม เกรงกลัว หวาดกลัว ถึงความสะดุ้ง เพราะ
เหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่า ผู้สะดุ้ง
คำว่า ผู้มั่นคง อธิบายว่า เหล่าสัตว์ที่ละตัณหาอันทำให้สะดุ้งได้แล้ว ละภัย
และความหวาดกลัวได้แล้ว เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่าผู้มั่นคง
สัตว์เหล่านั้นไม่สะดุ้ง ไม่ครั่นคร้าม ไม่เกรงกลัว ไม่หวาดกลัว ไม่ถึงความสะดุ้ง
เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่า ผู้มั่นคง

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/35-75/342-349

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :393 }